เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์เราจะกลัวการเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งที่เปลี่ยนไปทำให้เรารู้สึกไม่คุ้นเคย ไม่แน่ใจ เราไม่มีทางรู้ว่าสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาแทนที่สิ่งเก่านั้นจะเป็นอย่างไร จะดีกว่า พอกัน หรือ แย่กว่า เราไม่รู้เลย
.
เด็กๆ ก็เช่นกัน เขารู้สึกหวาดกลัว กังวลใจกับสิ่งที่เขาเผชิญเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เช่น การเข้าโรงเรียน การย้ายโรงเรียน การย้ายบ้าน บางสิ่งหายไป คนจากไป มีสิ่งใหม่มาแทนที่ เป็นต้น โดยยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่จะทยอยเข้ามาในชีวิตของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราในฐานะพ่อแม่มีหน้าที่เตรียมความพร้อมให้เขารับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
.
เด็กๆ ที่มีการปรับตัวกับสิ่งต่างๆ ได้ดี เมื่อ...
.
เมื่อเด็กรับรู้ความสามารถและข้อจำกัดของตนเอง
เด็กที่รู้ว่า ตนเองสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเองบ้าง เขาจะเรียนรู้ขอบเขตของตัวเอง ทำให้พวกเขารับรู้ว่า ตนเองสามารถควบคุมและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งความสามารถนี้จะเกิดขึ้นได้ หากเด็กคนนั้นได้เรียนรู้การช่วยเหลือตนเองและทำงานตามวัยของเขา...
เริ่มจากการดูแลสุขลักษณะของตนเอง เช่น กินข้าว อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน แต่งตัว ใส่รองเท้า หวีผม จัดกระเป๋า เป็นต้น
เมื่อดูแลตนเองได้ ก็ขยับขยายไปสู่การดูแลส่วนกลางด้วยการทำงานบ้าน เช่น รดน้ำต้นไม้ เช็ดโต๊ะ ล้างแก้วน้ำ กวาดบ้าน ถูบ้าน เป็นต้น
*ข้อสำคัญ ผู้ใหญ่ต้องให้โอกาสเขาทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง และให้การสอนผ่านการลงมือปฏิบัติไปกับลูก มากกว่าการทำให้เลยทันที
ผู้ใหญ่ต้องอดทน เผื่อเวลา รอให้เด็กทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ "งดเอาสะดวกผู้ใหญ่ แต่เน้นการเรียนรู้ของเด็กเป็นสำคัญ"
.
เมื่อเด็กมีความสามารถในการแก้ปัญหา
เด็กที่มีทักษะการเเก้ปัญหา จะไม่กลัวที่ออกไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะเขาจะไม่กลัวที่จะต้องเผชิญปัญหา
ซึ่งทักษะนี้จะเกิดขึ้นจากการที่พ่อแม่และผู้ใหญ่ทำเป็นแบบอย่างให้เด็กดูเมื่อเจอปัญหา และเปิดโอกาสให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง โดยให้การแนะนำวิธีการ แต่ไม่ชี้นำหรือบังคับให้เขาทำตามที่เราต้องการ เด็กจะมีโอกาสได้คิด และตัดสินใจเอง ที่สำคัญให้เด็กได้รับผิดชอบผลลัพธ์ในการ
เลือกของตนเองด้วย เพราะผู้ใหญ่ไม่ได้ตัดสินใจให้เขา
*ข้อสำคัญ ในการเป็นต้นแบบให้เด็กๆ ผู้ใหญ่ต้องจัดการควบคุมอารมณ์ของตนเพื่อใช้เหตุผลแก้ปัญหา เมื่อเด็กๆ เผชิญปัญหา อย่ารีบบอกวิธีการแก้ให้กับเขา ชวนเขาคิดถึงทางแก้หลายๆ ทาง และให้เขาได้ตัดใจเลือกทางด้วยตัวเอง เมื่อเขาตัดสินใจผิด อย่าโกรธหรือลงโทษเขา เพราะผลจากการเลือกผิดเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับเด็กแล้ว ผู้ใหญ่ควรให้กำลังใจและอยู่เคียงข้างเขาในวันที่เขาแก้ปัญหาไม่ได้ด้วยตนเอง ช่วยเหลือเขาด้วยการสอนวิธีการที่ถูก และทำไปพร้อมกับเขา
.
เมื่อเด็กเป็นคนที่สุขง่าย ทุกข์ยาก รวมไปถึงการเป็นเด็กกินง่าย อยู่ง่าย
เด็กที่สามารถสร้างความสุขได้ด้วยตนเอง มีความสุขง่ายๆ จากสิ่งรอบตัว จะเป็นเด็กที่สามารถสุขง่าย ทุกข์ยาก
เด็กที่เป็นเช่นนั้น มักมีมุมมองในการมองโลกในแง่ดี ซึ่งไม่ใช่มองโลกสวยเกินจริง แต่มองโลกอย่างที่โลกเป็น และพยายามหาแง่งามที่มีอยู่จนเจอ
พ่อแม่และผู้ใหญ่รอบตัวเขาต้องเป็นเช่นนั้นก่อน เพื่อสร้างคุณลักษณะเช่นนี้ในตัวเด็กขึ้นมา
หากพ่อแม่สามารถสอนเด็กๆ ให้ ‘ขอบคุณ’ บรรดาสิ่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้น และเหล่าคนเล็กๆ ในชีวิตของเขา เพื่อให้เขามองเห็นคุณค่าเขาสิ่งเล็กๆ เหล่านี้ เช่น เมื่อพี่ยามเปิดประตูให้เขา เราสามารถสอนเขาให้พูด ‘ขอบคุณ’ หรือ เวลาที่ลูกทำสิ่งดีๆ ให้พ่อแม่รีบชื่นชมด้วยการบอก "ขอบคุณนะลูกที่ทำ...” ให้กับเรา
*ข้อสำคัญ สอนเด็กๆ ให้กินง่าย อยู่ง่าย (ติดดิน)
บางครั้งสิ่งที่ดีที่สุดกับลูก ไม่ใช่ความสะดวกสบายและราคาของที่แพง แต่เป็นการได้สอนให้เขาเรียนรู้คุณค่าจากภายในมากกว่าภายนอก
.
เมื่อเด็กมีความคิดยืดหยุ่น
เด็กที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ และยินดีที่จะประนีประนอมกับความคิดที่ไม่เหมือนตนเอง จะสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้อย่างดี
พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถส่งเสริมเขาได้ด้วยการ พาเด็กๆ ออกไปเรียนรู้ในสถานที่ใหม่ เรียนรู้กับคนใหม่ๆ (ทุกๆ คนที่ลูกเจอ สามารถเป็นครูที่ให้ความรู้ดีๆ กับลูกได้) และให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย จะช่วยให้เขามีข้อมูลมากมายประกอบในกระบวนการคิดของเขา
.
เมื่อเด็กรับรู้ว่า ตัวเองไม่ได้เผชิญการเปลี่ยนเเปลงนั้นอยู่ตัวคนเดียว
พ่อแม่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกอุ่นใจ ในวันที่การเปลี่ยนแปลงมาถึง เด็กต้องเผชิญกับการปรับตัวมากมาย หากเขารับรู้ว่าเขาไม่ได้สู้คนเดียว พ่อแม่พร้อมจะสู้ไปกับเขาด้วย เชื่อว่า เขาจะเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคม
ในข้อนี้พ่อแม่อาจจะนำเรื่องเล่าประสบการณ์วัยเด็กของเรามาเล่าให้ลูกฟังได้ หากเราเคยเผชิญการเปลี่ยนแปลงหรือปัญหาแบบเดียวกันกับลูก เด็กจะรู้สึกดีเมื่อเขารับรู้ว่าพ่อแม่ก็เคยผ่านมันมาก่อนเช่นกัน
.
เมื่อเด็กรู้ว่า ความเปลี่ยนเเปลงนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร
การที่เรารู้ว่า เราต้องไปเผชิญกับอะไร เราอาจจะเตรียมใจได้ถูก
สำหรับเด็กๆ ที่ต้องย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียน ต้องไปเจอเพื่อน เจอคนใหม่ การที่เขาได้รู้ว่าหน้าตาของสถานที่ และผู้คนที่เขาต้องไปเจอเป็นเช่นไร เพื่อที่เขาจะได้ประเมินสถานการณ์ได้ก่อนจะไปเผชิญในวันจริง พ่อแม่สามารถพาเขาไปดูโรงเรียน บ้าน หรือ สถานที่ได้ เพื่อให้เขาเกิดความคุ้นเคย ที่สำคัญเราสามารถเล่าถึงคนที่เด็กจะต้องไปรู้จักก่อนได้ เช่น คุณครูของลูกเป็นอย่างไร ชื่ออะไร หรือ ในห้องมีเพื่อนกี่คน ลูกจะได้ทำอะไรบ้าง เป็นต้น
.
เมื่อเด็กรู้ว่า ความเปลี่ยนเเปลงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเผชิญ
สำหรับเด็กๆ ที่ต้องเผชิญกับสูญเสียบางสิ่งบางอย่าง ใครบางคนหายไปจากชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นการจากเป็นหรือจากถาวร พ่อแม่และผู้ใหญ่สามารถช่วยเขาให้ผ่านเรื่องนี้ไปได้ด้วยการ ‘รับฟัง’ ไม่ใช่เพียงแค่เสียงพูด และจากใจของเด็กด้วย อยู่เป็นเพื่อนเขา และกอดเขาแน่นๆ (หากเขาอนุญาตให้เรากอด) จนกว่าเขาจะสบายใจ
.
สุดท้าย แม้ว่าเราจะเตรียมพร้อมให้กับลูกอย่างเต็มที่ตาม 7 ข้อข้างต้นแล้วก็ตาม บางครั้งความเปลี่ยนแปลงก็หนักหนาสำหรับจิตใจของเด็กน้อย พ่อแม่ และผู้ใหญ่ควรปลอบประโลมเขาด้วยความเข้าใจ เราอนุญาตให้เขาแสดงออกทางความรู้สึกและอารมณ์ได้ เด็กอาจจะหงุดหงิด โกรธ เศร้า สิ่งที่เขาแสดงออกอาจจะเป็นการร้องไห้ เหวี่ยงวีน และอื่นๆ เรามีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้เขาไม่ทำร้ายตัวเอง ผู้อื่น หรือ สิ่งใด ให้เวลาเขาสงบด้วยการอยู่เป็นเพื่อนเขา ณ จุดนี้เด็กๆ จะเรียนรู้ว่า เขาไม่ต้องเก็บมันไว้ พ่อแม่ยอมรับตัวเขา และเขาจะค่อยๆ ยอมรับตัวเองและสิ่งที่เกิดขึ้น
.
พ่อแม่สามารถให้ความมั่นใจกับเขาด้วยการย้ำเตือนว่า “ลูกไม่ได้เผชิญมันคนเดียว พ่อแม่จะอยู่กับลูก” ไม่ต้องเร่งรีบ เด็กแต่ละคนใช้เวลาปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน เมื่อเขาพร้อม เขาจะค่อยๆ ยอมรับมัน และเขาจะก้าวออกไปด้วยตัวเขาเอง...

 

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ ตามใจนักจิตวิทยา